การป้องกันการเสื่อมสภาพยางรถยนต์

6243 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การป้องกันการเสื่อมสภาพยางรถยนต์

การป้องกันการเสื่อมสภาพยางรถยนต์
ในรถยนต์หนึ่งคันจะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งมีหน้าที่และความสำคัญแตกต่างกันออกไปโดยชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เหล่านั้น เมื่อผ่านการใช้งานเป็นระยะเวลานาน จะมีการเสื่อมสภาพลง ถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามเราสามารถยืดอายุการใช้งานและความทนทานของชิ้นส่วนอุปกรณ์เหล่านั้น โดยจะต้องพึ่งพาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการบำรุงรักษาและการใช้งานอย่างถูกต้องเหมาะสม สำหรับยางรถยนต์ก็เป็นชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำหน้าที่สำคัญดังนี้

  1. รับน้ำหนักรถยนต์และน้ำหนักบรรทุก
  2. ลดแรงกระแทกและการสั่นสะเทือนจากพื้นถนน
  3. ถ่ายทอดพลังงานขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์สู่พื้นถนน
  4. ยึดเกาะถนนและบังคับทิศทางของรถยนต์
โดยยางรถยนต์จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยการดูแลรักษาอย่างดีทั้งก่อนการนำมาใช้งานและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งานอีกด้วย ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำถึงวิธีการจัดเก็บรักษายางรถยนต์ให้คงสภาพได้สมบูรณ์พร้อมก่อนนำไปใช้งาน และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เมื่อนำยางรถยนต์ไปใช้งานแล้ว จะต้องมีการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อรักษาประสิทธิภาพขณะใช้งาน ความทนทานและมีอายุการใช้งานยาวนาน ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งสำคัญที่สุดก็คือความปลอดภัยในขณะขับขี่.

การจัดเก็บยางรถยนต์

เรามีวิธีการจัดเก็บรักษายางรถยนต์อย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถนำไปปฎิบัติได้ดังต่อไปนี้
  1. หลีกเลี่ยงการจัดเก็บในที่ๆ มีความเปียกชื้นหรือน้ำขังบนพื้น เพราะความชื้นอาจจะซึมเข้าสู่โครงยางภายในได้
  2. หลีกเลี่ยงการจัดเก็บยางในบริเวณโล่งแจ้งหรือถูกแสงแดดโดยตรง เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้ผิวชั้นนอกของยางเสื่อมสภาพ
    หรือเกิดปัญหาเนื้อยางแตกลายงาได้
  3. หลีกเลี่ยงการจัดเก็บยางในบริเวณทีมีน้ำมัน, สารเคมีต่างๆ หกเปรอะเปื้อนพื้น เพราะสิ่งเหล่านั้นจะทำอันตรายต่อคุณสมบัติ
    เนื้อยางให้เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว
  4. หลีกเลี่ยงการจัดเก็บยางใกล้กับแหล่งที่สามารถเกิดเปลวไฟหรือความร้อน เพราะยางเป็นวัสดุที่ลุกติดไฟได้ง่าย
  5. ในกรณีจัดเก็บวางยางซ้อนกัน ควรหลีกเลี่ยงการวางซ้อนที่มากเกินไป เพราะอาจทำให้โครงยางเสียรูปร่าง
ดังนั้นจึงมีคำแนะนำการวางซ้อนตามจำนวนดังนี้
  • ยางรถเก๋งและรถปิคอัพ (ทุกขนาด) ไม่ควรวางซ้อนกันเกิน 10 เส้น
  • ยางรถบรรทุกและรถโดยสาร (ขนาด 9.00 ถึง 10.00) ไม่ควรวางซ้อนกันเกิน 10 เส้น
  • ยางรถบรรทุกและรถโดยสาร (ขนาด 11.00) ไม่ควรวางซ้อนกันเกิน 8 เส้น
  • ยางรถบรรทุกและรถโดยสาร (ขนาด 12.00 ถึง 13.00) ไม่ควรวางซ้อนกันเกิน 7 เส้น
  • สำหรับยางที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ขึ้นไป ไม่แนะนำให้วางซ้อนกัน


การดูแลบำรุงรักษายางรถยนต์ในระหว่างการใช้งาน
นอกเหนือจากการเลือกใช้ขนาดยาง, ประเภทของยาง, ชนิดโครงสร้างยางและดอกยาง ให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานแล้ว สิ่งที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้ทนทานยาวนาน ก็คือการดูแลบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำซึ่งสามารถนำไปปฎิบัติได้ดังนี้
  1. ความดันลมยาง คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยางมีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักรถยนต์และน้ำหนักบรรทุกได้ โดยปกติความดันลมยางนี้ จะมีการซึมออกจากตัวยางได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงควรมีการตรวจเช็คความดันลมยางอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ (ขณะยางเย็น) เพื่อเป็นการรักษาความแข็งแรงและประสิทธิภาพด้านอื่นๆ ของยาง
    - สำหรับกรณีเพิ่งเปลี่ยนยางใหม่ ให้เพิ่มความถี่ในการตรวจเช็คลมยางในช่วงการใช้งาน 3,000 กม. แรก เนื่องจากโครงยางมีการขยายตัวในช่วงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ความดันลมยางลดลง
    - เมื่อยางมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากการใช้งาน จะมีผลทำให้ความดันลมยางสูงขึ้นกว่าปกติและจะค่อยๆ ลดลงกลับสู่สภาวะปกติหลังหยุดการใช้งาน ดังนั้นจึงห้ามปล่อยลมยางออกขณะยางร้อน
    - กรณีการใช้งานเดินทางไกลๆ หรือขับขี่ด้วยความเร็วสูงอยู่เป็นประจำ ควรเพิ่มความดันลมยางอีกเพียงเล็กน้อยประมาณ 3 - 5 ปอนด์/ตร.นิ้ว พื่อช่วยให้โครงยางแข็งแรงมีการบิดตัวน้อยลง และเพิ่มการทรงตัวขณะขับขี่ได้ดี
    - เมื่อเปลี่ยนยางเส้นใหม่ ควรเปลี่ยนวาล์วเติมลมด้วยทุกครั้ง พร้อมกับมีฝาปิดวาล์วตลอดเวลา
  2. การบรรทุกน้ำหนัก เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีผลอย่างมากต่ออายุของยางรถยนต์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการควบคุมน้ำหนักบรรทุกให้มีความสัมพันธ์กับความดันลมยาง แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรเติมลมยางสูงเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความนุ่มนวลในขณะขับขี่ลดลง
  3. การใช้ความเร็ว ในกรณีของยางใหม่ให้วิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม. /ชม. เป็นระยะทางอย่างน้อย 200 กม.เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของยางก่อนการใช้งานในสภาวะทั่วๆ ไป อย่างไรก็ตามควรขับรถด้วยความเร็วไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด และอย่าใช้ความเร็วสูงบนสภาพถนนขรุขระ เพราะจะทำให้ยางเกิดความเสียหายได้ง่าย
  4. การปะซ่อม ถึงแม้เราจะมีความระมัดระวังในการขับขี่สักเพียงใด แต่บางครั้งการถูกสิ่งมีคมบาดตำยางก็หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นจึงมีหลักในการพิจารณาถึงการปะซ่อมยางดังนี้
    - บาดแผลบริเวณหน้ายาง เช่น รูตะปู สามารถปะซ่อมได้ไม่เกิน 2 แผล ระยะห่างของบาดแผลไม่น้อยกว่า 40 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางบาดแผลไม่เกิน 6 มม.
    - บาดแผลบริเวณไหล่ยาง, แก้มยางและขอบยางไม่แนะนำให้ทำการปะซ่อม เนื่องจากความแข็งแรงไม่เพียงพอต่อการยึดเหนี่ยวกับวัสดุปะซ่อม
  5. ศูนย์ล้อของรถยนต์ เป็นอีกหนึ่งความสำคัญต่อการบำรุงรักษายางรถยนต์ เพราะสภาพศูนย์ล้อของรถยนต์ที่ถูกต้อง จะทำให้ยางมีการสึกหรอเรียบสม่ำเสมอ มีอายุการใช้งานยาวนาน ขับขี่สะดวกสบายและให้ประสิทธิภาพการขับเคลื่อนดี โดยปกติการตรวจสอบศูนย์ล้อ ควรทำทุกๆ 6 เดือน หรือทุกครั้งที่เปลี่ยนยางใหม่ หรือทุกครั้งที่มีการซ่อมแซมระบบช่วงล่าง
  6. การสลับตำแหน่งยาง ยางเมื่อผ่านการใช้งานมานาน มักจะเริ่มมีการสึกหรอไม่เรียบเกิดขึ้น อาจส่งผลให้ยางมีอายุการใช้งานสั้นลง รวมทั้งเกิดปัญหาเสียงยางดังขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งล้อหน้าจะเกิดการสีกหรอผิดปกติได้ง่ายที่สุด ดังนั้นเพื่อช่วยให้ยางมีอายุการใช้งานได้นาน ควรทำการสลับยางอยู่เสมอ สำหรับยางแบบเรเดียลทั่วไป ควรมีการสลับทุกๆ 10,000 กม.
  7. การทำความสะอาดยาง เป็นสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับสิ่งสกปรกต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับยาง เนื่องมาจากการขับขี่ซึ่งสิ่งสกปรกเหล่านั้น อาจเป็นสารเคมีที่มีผลกระทบต่อคุณสมบัติเนื้อยางในระยะยาว ดังนั้นการทำสะอาดบ่อยๆหรือทุกครั้งที่มีความสกปรกเกิดขึ้น ก็จะช่วยปกป้องสภาพยางให้สมบูรณ์ยาวนาน สำหรับอุปกรณ์ในการทำความสะอาดในเบื้องต้น เช่น น้ำสะอาด, ผงซักฟอก เป็นต้น หลังจากนั้นให้ทาเคลือบด้วยสารซิลิโคน ช่วยปกป้องและเพิ่มความเงางามให้กับผิวยางรถยนต์

การตรวจสภาพยางรถยนต์
ยางรถยนต์เป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ และอาจจะเคยได้ยิน ๆ บ่อย ๆ ว่าควรเปลี่ยนยางรถยนต์จากที่คำแนะนำเบื้องต้นที่มักได้ยินกันว่าทุก ๆ 2 ปี ไม่ก็ที่ระยะทาง 20,000 - 50,000 กิโลเมตร ถูกต้องแล้วครับมันเป็นคำแนะนำเบื้องต้นแต่ขอบอกเลยว่ามันสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น เพราะการที่เราใช้อายุยางหรือระยะทาง มาบอกว่ายางนั้นเสื่อมสภาพนั้นไม่สามารถชี้วัดได้หรอกครับว่ายางรถยนต์เราเสื่อมสภาพจริงไหม ด้วยเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งน้ำหนักรถ พื้นถนนที่ใช้วิ่ง สภาพอากาศ ความดันลมยาง ความเร็วในการขับขี่ ฯลฯ

สภาพดอกยาง
เราสามารถใช้งานได้จนกระทั่งดอกยางสึกหรอเหลือต่ำสุด 1.6 มิลลิเมตร สามารถสังเกตง่าย ๆ ได้จาก จุดสามเหลี่ยมเล็ก ๆ 6 จุดบนไหล่ยางแต่ละด้านเมื่อเจอสัญลักษณ์นี้แล้ว ให้มองตรงขึ้นไป ที่หน้ายาง และมองลึกลงไปที่ร่องดอกยาง ก็จะพบสันนูนที่ร่องยาง ซึ่งเรียกว่า สะพานยางและเมื่อไหร่ที่ดอกยางสึก ไปถึงสะพานยาง นั่นแสดงว่ายางหมดอายุการใช้งาน


 


ลักษณะยาง

ถึงแม้ยางไม่หมดอายุแต่เกิดการบวมล่อนขึ้น บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ที่หน้ายาง หรือ ไหล่ยาง ก็ควรเปลี่ยนใหม่ทันทีเช่นกัน เพราะหากยังใช้ต่อไป ยางอาจแตกระเบิดได้




บาดแผลบนยาง

ถ้าเกิดบาดแผลขึ้น โดยแผลนั้นมีความลึกไปถึงโครงสร้างยางภายใน และมีความกว้างของบาดแผลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผลบริเวณแก้มยาง ห้ามทำการปะซ่อมและนำมาใช้งานเด็ดขาด ควรเปลี่ยนยางใหม่โดยด่วนทันที

สภาพเนื้อยาง
เนื้อแข็ง และกระด้างไม่มีความยืดหยุ่น ทดสอบง่าย ๆ โดยใช้เล็บจิกลงบนเนื้อของหน้ายางเก่า ถ้าใกล้หมดสภาพแล้วมักแทบจิกไม่ลงเลย 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้